โครงการร่วมจัดการทรัพยากรประมงระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว: เพื่อปรับปรุงเพิ่มปริมาณปลาและพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนในแม่น้ำโขงตอนกลาง (LTF:Lao-Thai Fishery co-management improving fish stock and livelihood in the middle Mekhong) (พ.ศ.2559-2562)

แม่น้ำโขง…สายเลือดเส้นใหญ่ของคนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

© WWF-Thailand

     แม่น้ำโขงเป็นแหล่งทำการประมงของ 4 ประเทศ ในแต่ละปีสามารถจับปลาได้ประมาณ 2.6 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 75 และคิดเป็นแหล่งโปรตีนถึงร้อยละ 35 ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำโขงต้องพึ่งพิงอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพจนยากที่จะแยกออกจากกันได้ นับว่าเป็นอันดับที่สองรองจากแม่น้ำอเมซอนเท่านั้นที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลา และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนั่นคือ ปลาบึก (Mekong Giant Catfish) และปลากระเบนแม่น้ำโขง (Mekong stingray)อย่างไรก็ตามในปัจจุบันแม่น้ำโขงกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การดูดทราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งวางไข่ของพันธุ์ปลาหลายชนิด รวมทั้งการอพยพเคลื่อนย้ายของพันธุ์ปลา และยิ่งไปกว่านั้นก็คือระบบนิเวศแหล่งน้ำลึกที่มีความสำคัญในแม่น้ำโขงกำลังเปลี่ยนแปลง

     ด้วยเหตุนี้ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงาน สปป.ลาว (WWF-Laos) ร่วมกับ สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก WWF-Switzerland จึงได้ร่วมกันดำเนิน “โครงการร่วมจัดการทรัพยากรประมงระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว: เพื่อปรับปรุงเพิ่มปริมาณปลาและพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนในแม่น้ำโขงตอนกลาง” ขึ้น เพื่อปรับปรุง และเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำ ผ่านกระบวนการจัดการประมงแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของชนิดพันธุ์ที่สำคัญ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
แผนที่แสดงพื้นที่ดำเนินโครงการ

© Naksit Sangjun/WWF-Thailand

วัตถุประสงค์โครงการ

  1. เพื่อปรับปรุงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติน้ำจืดระหว่างประเทศ โดยการกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ คณะกรรมการจัดการประมง การลาดตระเวนของชุมชน และการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเพื่อให้ชุมชนได้รับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการอนุรักษ์ปลา และการบริหารจัดการทรัพยากรประมง
  2. เพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจากแหล่งน้ำจืดด้วยการสนับสนุนความเป็นอยู่และส่งเสริมทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้
  3. เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำโขงตอนกลาง ประกอบด้วย แหล่งวังปลาท้องถิ่น พื้นที่หรือแหล่งวางไข่ของปลาบึก และชนิดพันธุ์อื่นที่ถูกคุกคาม


พื้นที่ดำเนินงานและหมู่บ้านเป้าหมาย

ดำเนินการในพื้นที่ 30 หมู่บ้าน (ฝั่งประเทศไทย 15 หมู่บ้าน และ สปป.ลาว 15 หมู่บ้าน)
ในประเทศไทย ดำเนินการในพื้นที่อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ และอำเภอท่าอุเทน อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม


ระยะเวลาดำเนินโครงการ

เดือนกรกฎาคม 2559 ถึง เดือนมิถุนายน 2562 รวมระยะเวลา 3 ปี
 

หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณและผู้รับผิดชอบดำเนินงาน

สนับสนุนงบประมาณโดย องค์กร WWF Switzerland และรับผิดชอบดำเนินงาน โดย องค์กร WWF
Laos และ WWF Thailand
 

กิจกรรมหลัก

  • การจำแนกถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญ (เช่น แหล่งหากินและแหล่งวางไข่ แหล่งน้ำลึก เส้นทางอพยพ) และสถานที่เหมาะสมสำหรับกำหนดเป็นวังสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ (FCZ)
  • การกำหนดแนวเขตที่ชัดเจนของเขตวังสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ และให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการ รวมทั้งข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว
  • มีหน่วยลาดตระเวนชุมชนเพื่อดูแลเขตวังสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ
  • มีการติดป้ายและหรือใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อแยกแยะชนิดพันธุ์ และสามารถระบุรูปแบบการอพยพ
  • ติดตามการจับปลา และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนข้อมูลให้กับ WWF ใช้ต่อต้านการสร้างเขื่อนและเป็นหลักฐานคุณค่าของการทำเขตวังสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ
  • วิจัยแหล่งวางไข่ของปลาบึกผ่านกระบวนการตรวจ DNA และการสำรวจแพลงก์ตอน
  • สนับสนุนชุมชนชาวประมงเพื่อปรับปรุงการแปรรูปผลผลิตจากปลาในประเทศไทย
  • สนับสนุนสมาชิกของชุมชนให้มีรายได้เสริม และพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (เช่น ปลูกพืชผักฤดูแล้งริมฝั่ง ธนาคารปุ๋ย ธุรกิจชุมชน ร้านค้าสินค้าทำมือ)
  • มีการเผยแพร่ความรู้ข้อมูลทางวิชาการให้กับชุมชนผ่านเวทีเสริมสร้างจิตสำนึก การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเทคนิค และพิมพ์บทความเผยแพร่
ปลาน้ำจืด…แหล่งโปรตีนและรายได้จากแม่น้ำโขง

© Assanai Srasoongnern/WWF-Thailand

เอกสารแนะนำโครงการ
รายชื่อหมู่บ้านเป้าหมายในฝั่งประเทศไทย
แม่น้ำโขง

© Chaiya Peng-un/WWF-Thailand

โครงการจัดการร่วมทรัพยากรประมงระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว

© Chaiya Peng-un/WWF-Thailand