What would you like to search for?

Our News

พลาย ภิรมย์ ช่วยโลกวันละ 3 เวลา ว่าด้วยวิถีการกิน

#แพนด้าเป็นอะไร

เพราะการก้าวเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เขาเรียนรู้ถึงความจริงที่ว่า “โลกจะอยู่อย่างยั่งยืนได้ เมื่อมนุษย์ลดความเป็นตัวเองออกระดับหนึ่ง”

ด้วยความมุ่งมั่นที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “แพชชั่น” ของคุณพลาย ภิรมย์ ทำให้เขาก้าวเข้ามาเป็นผู้จัดการโครงการเสริมสร้างการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน ของ WWF-ประเทศไทย และมุ่งที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “ต้นน้ำ” หรือก็คือแก้ที่พฤติกรรมของมนุษย์ วันนี้แพนด้ามีโอกาสมาพูดคุยกับคุณพลาย ถึงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการปรับพฤติกรรมตนเอง สู่การทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ สัตว์ป่า และส่ิงแวดล้อม

“หลายคนอาจสงสัยว่า องค์กรสิ่งแวดล้อมอย่าง WWF ที่เหมือนจะเป็นองค์กรสัตว์ป่า แต่เข้ามาทำงานอะไรกับงานด้านการผลิตและบริโภค จริงๆ แล้วถ้ามองไปเนี่ย ต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมก็คือตัว มนุษย์เองนี่แหละ ก็คือ หากการที่มนุษย์มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนนั้น การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมย่อมไม่อาจสำเร็จได้ หากเราถ้าไม่ปรับแก้ที่พฤติกรรมของมนุษย์ก่อน” . . คุณพลาย กล่าวต่อด้วยสีหน้าจริงจังว่า “เพราะเราชอบคิดว่าทุกอย่างจะต้องตอบโจทย์มนุษย์ เราพยายามเอาวิทยาศาสตร์มาแก้ไขเพื่อเอาชนะธรรมชาติ แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าเราจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไรให้สมดุลได้มากที่สุด”

“จริง ๆ แล้วการช่วยโลกแบบง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนที่ตัวเราเอง และเปลี่ยนที่ตัวเองแบบง่ายที่สุดก็คือ เปลี่ยนวันละสามเวลาผ่านการกินของเราสามมื้อนั่นแหละ และนี่คือจุดเร่ิมต้นของโครงการเรา” .

เมื่อ “ระบบอาหาร” ของคนไทยล้มเหลว การเร่ิมต้นโครงการเสริมสร้างการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน ของ WWF-ประเทศไทย จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อรณรงค์ปรับเปลี่ยนกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ผลิต จนถึงผู้บริโภคให้ยั่งยืนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมกับเกษตรกร และเสนอแนะแนวทางให้เกษตรกร “ปลูกพืชแบบสร้างป่า” ซึ่งเป็นการปลูกผสมผสาน ตั้งแต่พืชเศรษฐกิจ ไม้ป่า ไม้ผล ที่มีประโยชน์มากมาย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากการแก้ที่กระบวนการผลิตแล้ว ในด้านของ “ปลายทาง” โครงการดังกล่าวมีส่วนในการรณรงค์ให้ผู้บริโภค ในแคมเปญที่ชื่อว่า #EatBetter หรือ #กินดีกว่า ซึ่งผลักดันให้ผู้บริโภคกินอาหารที่ผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ รู้แหล่งที่มา และปลอดภัยต่อทั้งตัวเรา และธรรมชาติ

ทว่า เส้นทางชีวิตสายสีเขียวของคุณพลาย ไม่ได้เพิ่งจะเริ่มขึ้นจากช่วงเวลาที่เขาเข้ามาทำงานที่ WWF แต่หากจุดเร่ิมต้นเกิดจากเส้นทางชีวิตที่พลิกผัน และทำให้เขาก้าวเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม “ผมเรียนทางด้านวิศวกรรม มาทางสายอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรงเลย พอเราทำสักพักมันเริ่มรู้สึกไม่ตอบโจทย์ พอเห็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากๆ เข้า ก็เลยเปลี่ยนตัวเอง แล้วมาเรียนต่อทางด้านสิ่งแวดล้อม ตรงนี้เป็นตัวเปลี่ยนไลฟสไตล์เลย”

“โดยเฉพาะตอนมาทำที่ WWF เกี่ยวกับโครงการเรื่องการผลิตและพัฒนาที่ยั่งยืน เราก็จะเห็นความเชื่อมโยงมากขึ้นว่า มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการทำลาย แม้จะไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติก็อยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง แต่มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้หากไม่มีธรรมชาติ ตรงนี้เป็นแนวคิดหลักเลยเกี่ยวกับการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม การที่โลกจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนก็คือต้องไม่เอาตัวเองเป็นหลัก ดังนั้นต้องเปลี่ยนคำถามกับการใช้ชีวิตว่า ไม่ใช่ว่าเราจะมาตักตวงอะไรจากสังคม และระบบนิเวศ แต่เราจะสามารถให้อะไรต่อสังคมต่อธรรมชาติได้ “ คุณพลายกล่าวต่อด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น . . หลายคนอาจสงสัยว่า การที่มาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม จะสามารถเปลี่ยนไลฟสไตล์ตัวเองให้เป็นสายกรีนได้เลยหรือเปล่า ? หากจะตอบว่าได้ 100% ก็อาจจะอุดมคติไปบ้าง เพราะ “ความสมบูรณ์แบบ” อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน

“คนเราไม่ได้เกิดมาแล้วเพอร์เฟ็ก มันเป็นการปรับเปลี่ยนและพัฒนาชีวิตทุกวัน เพราะฉะนั้นก็มีวันที่เราทำผิด แต่มีก็มีวันที่เราทำดีขึ้น และมันก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ดังนั้นถามว่าเป็นคนกรีน 100% ไหม คำตอบคือก็ยังไม่ถึงจุดที่จะเคลมได้ แต่เราก็พยายามให้ถึงจุดนั้นอยู่ งานที่เราทำเนี่ย ผมคิดว่ามันมีความหมายมาก เพราะว่าเรากำลังจะบอกเพื่อน บอกพ่อแม่พี่น้อง บอกทุก ๆ คนว่าให้มาร่วมกันอยู่กับธรรมชาติ และสิ่งนี้ก็จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราคืนให้กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นสุข”

คุณพลายได้จุดประกายให้พวกเราทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการก้าวเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เพราะท้ายที่สุดแล้ว “พวกเรา” คือกระบอกเสียงที่สร้างหัวใจอนุรักษ์ให้กับผู้คนอีกนับร้อย นับพัน ในโลกที่ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นของเราทุกคน

ติดตามเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เพจ Eat Better - กินดีกว่า ได้นะคะ #WWFThailand #TogetherPossible #EatBetter #แพนด้าเป็นอะไร

© SCP-WWFTH
WWF Thailand

 

สนับสนุน
สนับสนุน