What would you like to search for?

BITESIZE KNOWLEDGE

Organic Soy


นอกจากการใส่ใจแหล่งที่มาของวัตถุดิบหลักอย่างผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ที่ปลอดภัยสำหรับการประกอบอาหาร สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกร้านอาหารและทุกบ้านคือ เครื่องปรุงรสประเภทซอสถั่วเหลือง อย่างเช่น 'ซีอิ๊ว' 

ในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องผลิตให้ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว หากไม่ได้ใช้วิธีที่ได้มาตรฐาน อาจพบวิธีเร่งรัดในการทำซีอิ๊ว โดยนำถั่วเหลืองมาหมักด้วยกรดเกลือเข้มข้น ที่จะช่วยย่นเวลาการหมักหลายเดือนให้เหลือเพียงไม่กี่วัน แต่ระหว่างกระบวนการหมักนั้นมีความเสี่ยงเกิดสารพิษเจือปน ซึ่งหากสะสมเข้าไปในร่างกายปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และยังทิ้งสารเคมีตกค้างอยู่รอบตัว

การหมักซีอิ๊วด้วยกระบวนการธรรมชาติ ยังช่วยให้เราได้ใช้วัตถุดิบได้อย่างคุ้มค่า ยืดอายุการใช้งาน ลดปริมาณของเหลือทิ้ง หลีกเลี่ยงจุลินทรีย์ที่ก่อโรค ได้จุลินทรีย์ที่ดีช่วยสร้างรสชาติและให้ประโยชน์กับร่างกาย...ที่สำคัญอย่าลืมใส่ใจความสะอาดในทุกขั้นตอน

ขอบคุณตัวอย่างสูตรการหมักซีอิ๊วจากเครือข่ายสวนผักคนเมือง แนะนำสูตรซอสปรุงรสประจำบ้านที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัยเพื่อเราได้ 


Meatless Monday


"วันจันทร์" คือสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ 
รู้จักกับโครงการ Mealtless Monday การรณรงค์เพื่อลดการกินเนื้อสัตว์ เชิญชวนให้งดเนื้อสัตว์ในวันจันทร์ เพียงแค่หนึ่งวันต่อสัปดาห์ หวังให้เป็นอีกหนึ่งหนทางหยุดยั้งภาวะโลกร้อน

จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ 
ประเมินว่า 15% ของสาเหตุภาวะโลกร้อน มีผลมาจากการทำปศุสัตว์ เพื่อผลิตเป็นอาหารให้กับคน 
โลกต้องสูญเสียทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นทุกปี 
เกิดการบุกรุกป่า เผาป่า ให้กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ 
เกิดการใช้สารเคมี ใช้พลังงานไปกับการขนส่งและแปรรูปกว่าจะกลายมาเป็นอาหารตรงหน้าเรา 

การรณรงค์ "Meatless Monday" เกิดขึ้นโดย John Hopkins Bloomberg School of Public Health ที่เชิญชวนให้ชาวสหรัฐฯ งดกินเนื้อสัตว์ สัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อส่งผลไปถึงการลดปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์ ลดการทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการ โดยเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา (www.meatlessmonday.com)

ทุกวันนี้ “Meatless Monday” ถูกประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดยที่แต่ละประเทศมีนโยบายส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงาน เช่น บริษัทชั้นนำ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ร้านอาหาร ไปจนถึงกองทัพ ให้หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมได้ดูแลสุขภาพ เลี่ยงการกินเนื้อสัตว์มากเกินความจำเป็น และเกิดเป็นการ Challenge แบ่งปันเมนู #MeatlessMonday ผ่าน Social Media ที่สามารถกินทดแทนเนื้อสัตว์ได้อย่างมีประโยชน์ และไม่มีโทษต่อสิ่งแวดล้อม 

ทำไมต้องเป็นวันจันทร์ ?
Academy of Nutrition and Dietetics ให้นิยามถึงความสำเร็จเล็กๆ (เช่น การตั้งใจไปออกกำลังกาย, การงดสั่งชานมไข่มุกในบางวัน) จะเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกทรงพลังให้กับคน ไม่ต่างจากความสำเร็จใหญ่ๆ สอดคล้องกับ The Monday Campaign Initiative ที่เห็นว่าการตั้งปณิธานวันจันทร์ เท่ากับว่าใน 1 ปี เรามีโอกาสถึง 52 ครั้งในการทำให้ต่อเนื่องและเริ่มใหม่ ถ้าทำไม่สำเร็จในจันทร์นี้ ก็เริ่มใหม่ได้ในจันทร์ต่อไป ทำให้เราสร้างความคิดแง่บวกให้กับตัวเอง 

แม้ว่า Meatless Monday ยังไม่ได้มีการรณรงค์อย่างจริงจังในประเทศไทย แต่เทรนด์ผู้บริโภคที่หันมากินมังสวิรัติ ลดการกินเนื้อสัตว์ ใส่ใจอาหารการกินเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยในระยะยาวนั้นมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ใส่ใจเลือกหาวัตถุดิบและกระบวนการที่ดี เพื่อเสิร์ฟสิ่งที่ดีกว่าเดิมตามความต้องการของคนกิน


Food Waste


ทุกๆ ปี ในโลกนี้จะมีอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Waste) หรืออาหารถูกปล่อยให้เน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นในแต่ละปี ขณะที่ร้อยละ 11 ของประชากรโลกยังเผชิญกับความอดอยาก โดยสถิติของคนไทยพบว่าสัดส่วนของขยะร้อยละ 64 นั้นเป็นขยะอาหาร คิดเป็นประมาณการทิ้งขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน

การสูญเสียอาหารและขยะอาหารนั้น ก่อให้เกิดขยะอินทรีย์จำนวนมหาศาล หากเราจัดการกับขยะอินทรีย์ไม่ถูกสุขลักษณะ จะกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เพราะขยะอินทรีย์จะปล่อยก๊าซมีเทนที่รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 14 เท่า 

หลายประเทศจึงมีนโยบายลดอาหารที่ถูกทิ้ง เช่น ห้างค้าปลีกในยุโรปจำนวนมากเข้าร่วมโครงการ WRAP (Waste & Resources Action Programme), โครงการ Love Food, hate waste เพื่อร่วมกันผลักดันการลดขยะอาหารอย่างจริงจัง โดยหลายแห่งได้นำเศษอาหารและอาหารที่ขายไม่หมดไปแปรเป็นพลังงาน (Waste to energy) เช่น ปุ๋ยหมัก แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ก๊าซหุงต้ม 
หรือในสิงคโปร์ ใช้วิธีตัดผักผลไม้ให้ชิ้นเล็กลงมาวางขายใหม่ในราคาที่ถูกลง 
ในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ ใช้วิธีบริจาคอาหารที่ขายไม่หมดให้คนยากไร้

องค์กร WWF เริ่มรณรงค์ให้คนลดปริมาณการทำอาหารลง 1 ใน 3 เพื่อลดการเหลือทิ้ง โดยเริ่มต้นที่แต่ละครัวเรือน 
ในประเทศไทยก็เช่นกัน เราเริ่มเห็นการแยกขยะตามร้านอาหาร เพื่อการจัดการอย่างถูกวิธี นำไปสู่การแปรรูปให้เป็นประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยให้แร่ธาตุในดิน นำกากกาแฟมาทำสบู่ 
เราเริ่มให้ความสำคัญกับการ #กินไม่เหลือทิ้ง กะปริมาณอาหารที่ต้องการให้พอดีกิน ร่วมกับลดใช้บรรจุภัณฑ์อาหารอย่างฟุ่มเฟือยที่จะกลายเป็นขยะสะสม 

#กินให้ยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องที่ชวนฝัน และในทุกวันนี้เราเริ่มได้เห็นสัญญาณที่ดีจากทั่วโลก เพียงแค่เราฉุกคิดสักนิดก่อนการกินในแต่ละครั้ง ถึงแม้การหยุดยั้งวิกฤตโลกร้อนและมลพิษนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การช่วยกัน #ลดปริมาณขยะอาหาร เท่าที่จะเป็นไปได้ คือหนึ่งในทางทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น อย่างน้อยให้เกิดขึ้นที่รอบบ้านเรา  


Sustainable Straws


ในการซื้อน้ำ 1 แก้ว เพื่อดื่มดับกระหาย 
แต่พลาสติกมากมายที่แถมมากับน้ำดื่มจะไม่หายไป 
ถ้วยพลาสติก หลอดพลาสติก หูหิ้วพลาสติก มีอายุการใช้งานที่สั้นมาก 
แต่จะต้องใช้เวลาย่อยสลายอีกยาวนาน พร้อมกับผลกระทบที่บานปลาย 

แต่ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นทางเลือกที่หลากหลายของการลดใช้พลาสติก 
รวมถึงการรณรงค์ลดใช้หลอด แต่เราเข้าใจว่าในบางครั้งก็จำเป็นจริงๆ 
ลองดูกันว่า หลอดแบบไหนที่เริ่มถูกนำมาใช้แทนพลาสติกกันบ้าง

และขอเชิญชวนผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตมาแบ่งปันแนวคิด 
แชร์ลายแทงตามหาหลอดที่เป็นมิตรกับคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม
เพื่อให้คำว่า #กินให้ยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว 
แต่อยู่ใกล้เอื้อมแค่น้ำที่เราดื่มในแต่ละวัน 
 


โลกร้อนเดือดร้อนถึงข้าว 


โลกร้อนใกล้ตัวกว่าที่คิด
เมื่อเริ่มเดือดร้อนมาถึง “ข้าว” ที่เรากิน 
สภาวะโลกร้อนกำลังมีส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณค่าสารอาหารในข้าวลดลง และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของมนุษย์

จากงานวิจัยข้าวในแปลงทดลองที่ตีพิมพ์ใน Science Advances Journal ระบุว่าปัจจุบันมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้นข้าวได้รับคาร์บอนไดออกไซด์มาสังเคราะห์แสงในปริมาณที่มากเกินไป โดยค่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาระหว่างการทดลองอยู่ที่ 568-590 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งเป็นปริมาณสูงจนส่งผลให้ปริมาณสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดข้าวลดลง
ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ธาตุเหล็ก สังกาสี และวิตามินต่างๆ เช่น บี1 บี2 บี5 บี9 ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัยและประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคนที่รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก รวมถึงอาจส่งผลกระทบไปยังอาหารชนิดอื่นต่อไป

ทางออกทางหนึ่งของปัญหานี้ คือการปลูกข้าวอินทรีย์ โดยปราศจากการใช้สารเคมีทุกชนิดจะช่วยดูแลดินและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการเลือกกินข้าวอินทรีย์คืออีกหนึ่งทางที่จะทำให้ได้กินอาหารปลอดภัยและได้ช่วยโลกผ่านการกิน 
 


เต่าทะเล


ทำไมเป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อเต่าทะเลมาวางไข่ที่ชายหาด ?

ขยะพลาสติกที่เอ่อล้นมหาสมุทร เริ่มส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศและชีวิตสัตว์ หนึ่งในนั้นคือ "เต่าทะเล"
ผลวิจัยจากออสเตรเลียคาดการณ์ว่าครึ่งหนึ่งของเต่าทะเลทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหาการกินขยะพลาสติก ซึ่งเมื่อเต่าทะเล กินขยะพลาสติกเล็กๆ เพียงชิ้นเดียวเข้าไป จะเพิ่มความเสี่ยงตายสูงถึง 22%

ที่ประเทศไทย เราไม่พบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ตามชายหาดทางภาคใต้ของมานานแล้วเป็นเวลากว่า 5 ปี สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพพื้นที่ชายหาดที่เปลี่ยนไปจากสิ่งก่อสร้าง แสงไฟรบกวน และกิจกรรมที่เกิดจากมนุษย์ ประกอบกับมีเศษขยะจำนวนมหาศาลเป็นอุปสรรคระหว่างทาง ทำให้เต่าทะเลขึ้นชายหาดไม่ได้ 
เต่าทะเลจำนวนมาก เผลอกินขยะพลาสติกที่ปะปนอยู่ตามมหาสมุทร เพราะไม่สามารถแยกแยะพลาสติกกับอาหารได้... ส่งผลให้เต่าทะเลล้มตาย และอาจสูญพันธุ์ในอนาคต

ปลายปี 2018 และต่อเนื่องมาถึงในเดือนมกราคม 2019 เราได้เห็นข่าวเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บนชายหาดแถบชายฝั่งทะเลพังงา-ภูเก็ต ได้เป็นจำนวนมาก 
ข่าวนี้เป็นสัญญาณด้านบวกต่อความก้าวหน้าในการฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อม 
เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของความสำเร็จจากการรณรงค์ช่วยกันลดขยะ ลดพลาสติก อย่างจริงจัง
เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ยังมีความเอื้อเฟื้อให้แก่กัน
 


กินอย่างไรไม่ทำร้ายโลก 


พื้นที่ทั่วประเทศไทยกว่า 9 ล้านไร่ ถูกใช้ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 
โดยมากกว่า 5 ล้านไร่ เคยเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่ถูกทำลายไปจากการใช้สารเคมีอันตรายจำนวนมากในการเพาะปลูก ทำให้เกิดการปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำ และห่วงโซ่อาหาร 

การตัดป่า เผาตอซัง การใช้ปุ๋ยและยาพิษเกษตรเคมีเกินจำเป็นจากการปลูกยังเป็นสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ อีกทั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเคมีทำให้ดินแห้งแล้ง หน้าดินพังทลาย และไม่สามารถช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์

พื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลก กว่า 1 ใน 3 ถูกใช้กับการปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง
ซึ่งในพลังงาน 100 แคลอรี่จากเมล็ดพืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค จะแปรเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์ในปริมาณที่ให้พลังงานแก่ผู้บริโภคได้ไม่ถึง 10 แคลอรี่ ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไปมากมาย 

หากเราลดการกินเนื้อสัตว์ ลดการกินเหลือทิ้งลงบ้าง

จะเป็นอีกหนทางช่วยฟื้นฟูพื้นป่ากลับคืนกลับมา 
จะมีส่วนช่วยรักษาระบบนิเวศและป่าต้นน้ำไว้ได้